ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

ลักษณะทั่วไปของช้างเอเซีย

ลักษณะทั่วไปของช้างเอเซีย      
  
           ช้างเอเซียเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่อาศัยอยู่บนบก เท้าเป็นกีบ มีลักษณะกลม (Hoof) มีงวงยาว ความยาวของลำตัวจากหัวจรดโคนหางยาวประมาณ 400 เซนติเมตร หางยาวประมาณ 100-150 เซนติเมตร ใบหูกว้างประมาณ 40-50 เซนติเมตร เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 3,500-4,000 กิโลกรัม (3.5-4.0 ตัน) ความสูงบริเวณไหล่เฉลี่ยประมาณ 240-270 เซนติเมตร (8-9 ฟุต)

          ลูกช้างเมื่อเกิดใหม่ๆ จะมีขนปกคลุมตามร่างกาย แต่ภายหลังขนจะค่อยๆ หลุดร่วงไปคงเหลือบ้างประปราย ขนตาค่อนข้างยาว และปลายหางจะมีขนเส้นใหญ่ หยาบ ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร งอกเป็นแผง 2 ด้านของหางงอโค้งไปทางด้านปลายหาง ผิวหนังเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงสีเทา บริเวณหูและงวงมีสีอ่อนกว่าบริเวณอื่น หัวโต มีโหนกเป็นลอน 2 อัน ซึ่งเรียกว่า "โหนกน้ำเต้า" สมองเล็กเมื่อเทียบกับขนาดของหัว คือสมองกว้างประมาณ 15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร สูงประมาณ 12.5 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม กะโหลกหัวส่วนใหญ่เต็มไปด้วยโพรงอากาศคล้ายรังผึ้ง จึงทำให้กะโหลกหัวช้างมีน้ำหนักเบา สมองอยู่ในตำแหน่งกลางหัว ถ้าลากเส้นตรงจากกึ่งกลางรูหูข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งจะผ่านกลางสมองพอดี มีต่อมบรรจุของเหลวข้นคล้ายน้ำมันหมูอยู่บริเวณขมับ ระหว่างตากับรูหูข้างละ 1 ต่อม ต่อมนี้ยังไม่ทราบหน้าที่ที่แท้จริง ช้างตัวเมียมีเต้านม 2 เต้าอยู่บริเวณหน้าอกระหว่างขาหน้า 2 ข้าง ตามปกติหัวนมจะไม่พัฒนายกเว้นขณะเป็นแม่ลูกอ่อน ช้างมีตาขนาดเล็ก

          ช้างมีงวง ซึ่งเป็นอวัยวะที่เจริญมาจากจมูกและริมฝีปากบน ซึ่งยืดยาวออกไปโดยมีรูจมูกอยู่ที่ปลายงวง 2 รู งวงประกอบด้วยมัดกล้ามเนื้อหลายชั้น ดังนั้นงวงช้างจึงมีความแข็งแรงและมีกำลังมาก บริเวณปลายงวงมีอวัยวะรับความรู้สึกเกี่ยวกับกลิ่นและสัมผัส ทำให้ช้างสามารถรับรู้กลิ่นต่างๆได้ในระยะไกล ช้างสามารถรับกลิ่นเสือหรือมนุษย์ที่อยู่เหนือลมได้ไกลถึงกว่า 1 กิโลเมตร งวงช้างนอกจากจะเป็นจมูกใช้ในการหายใจและดมกลิ่นต่างๆแล้ว ยังใช้เป็นอวัยวะจับสิ่งของต่างๆ ตลอดจนอาหาร เช่น หญ้า ใบไม้ และดูดน้ำพ่นเข้าปากกินได้ด้วย

          ช้างมีตาขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดลำตัวที่ใหญ่โต แต่ช้างเป็นสัตว์ที่มีสายตาไม่ดี ในระยะ 15-20 เมตร ช้างอาจมองไม่เห็นสิ่งแปลกปลอม หรือศัตรู

          งาช้างเป็นฟันตัดที่พัฒนาเจริญงอกยาวออกไปจากขากรรไกรบนข้างละ 1 กิ่ง งาช้างตามปกติจะมีขนาดใหญ่และยาวพ้นริมฝีปาก พบเฉพาะในช้างตัวผู้เท่านั้น ส่วนช้างตัวเมียและช้างสีดอซึ่งเป็นช้างตัวผู้ที่มีงาขนาดเล็ก เส้นรอบวงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ยาวไม่พ้นริมฝีปากหรือยาวพ้นริมฝีปากเพียงเล็กน้อยประมาณ 10-15 เซนติเมตร เรียกงาแบบนี้ว่า "ขนาย" ไม่เรียกว่า "งา" โคนงาและขนายที่ฝังอยู่ในขากรรไกรบนจะมีกระดูกอ่อนหุ้มอยู่หนาประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ลักษณะงาช้างโดยทั่วไปจะเป็นโพรงหรือรูกลวง ความลึกของโพรงขึ้นอยู่กับอายุของช้าง ช้างที่มีอายุมากส่วนโพรงจะตื้น สั้นกว่าส่วนที่ตัน ช้างที่มีอายุมากๆ อาจมีโพรงลึกเพียง 15-20 เซนติเมตรเท่านั้น ภายในโพรงของงาจะเต็มไปด้วยของกึ่งเหลวกึ่งแข็งสีน้ำตาลแดงคล้ายตับหมู ช้างจะเริ่มมีงาหรือขนายเมื่ออายุประมาณ 2-5 ปี งาช้างนอกจากจะใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวของช้างแล้ว ยังใช้สำหรับลอกเปลือกไม้ และขุดดินโป่งกินได้อีกด้วย ตามปกติงาช้างจะมีสีขาวซึ่งแตกต่างจากสีขาวธรรมดาทั่วไป จึงเรียกว่าสีงาช้าง นอกจากนี้ยังเคยมีรายงานว่ามีงาช้างสีดำซึ่งเป็นสิ่งที่หายากมาก ปัจจุบันหาดูได้ที่ศาลากลางจังหวัดน่าน

          ใบหูช้างประกอบด้วยใบหูและรูหู ใบหูของช้างเป็นแผ่นใหญ่ ขอบใบหูของช้างเอเซียจะสูงไม่พ้นหัว ส่วนโคนใบหูหนาแล้วค่อยๆบางลงไปจนถึงของใบหู บริเวณปลายขอบใบหูมีลักษณะเว้าแหว่ง ยิ่งช้างที่มีอายุมากลักษณะเว้าแหว่งของใบหูยิ่งมีมากขึ้น ใบหูมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 65-85 เซนติเมตร

          ช้างจะโตเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 25 ปี และมีอายุยืนประมาณ 70 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น