ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

อาหารการกิน และอุปนิสัย

อาหารการกิน และอุปนิสัย

          ช้างกินอาหารประมาณวันละมากกว่า 200 กิโลกรัม อาหารที่กิน ได้แก่ หญ้า ใบและต้นของกล้วยป่า หน่อไม้ ไผ่ ผลไม้และยอดไม้ โดยช้างมักจะหักกิ่งไม้จากยอดไม้ลงมากินและเหลือทิ้งไว้ ทำให้สัตว์อื่นๆ เช่น กวาง กระทิง วัวแดง ฯลฯ ช้างจะกินผลไม้ทุกชนิดที่หล่นตามพื้น หรืออาจใช้หัวดันต้นไม้ให้ลูกไม้ตกลงมา สัตว์กินพืชนั้นจะต้องการดินโป่งซึ่งประกอบด้วยโซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม และอื่นๆ ช้างก็เช่นกัน มักจะกินโป่งในช่วงที่ฝนตกเพราะดินอ่อนนุ่ม ในช่วงที่ฝนไม่ตก ช้างสามารถใช้งาขุดดินโป่ง ทำให้ดินโป่งร่วน ทำให้สัตว์อื่นสามารถเข้ามาอาศัยกินดินโป่งได้ 

          ช้างต้องการน้ำประมาณวันละ 200 ลิตร ในฤดูแล้งช้างสามารถหาน้ำกินโดยใช้เท้าและงวงขุดทรายท้องน้ำที่แห้งลงลึกประมาณ 50-100 เซนติเมตร ถ้าขุดลึก 30 เซนติเมตรแล้วทรายยังแห้งช้างจะเปลี่ยนที่ขุดใหม่

          ช้างมักอาศัยอยู่เป็นโขลง โขลงละ 1 ครอบครัว ในโขลงมักประกอบด้วยช้างตัวเมีย และช้างตัวผู้อายุน้อย ส่วนตัวผู้ที่โตเต็มวัยมักหากินตามลำพัง เรียกว่า "ช้างโทน" จะเข้าโขลงเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น จ่าโขลงมักเป็นตัวเมียที่มีอายุมาก ที่เรียกว่า "แม่แปรก" (อ่านว่าแม่ปะแหรก) เป็นผู้นำโขลงในการหากิน และหลบภัย

          เนื่องจากช้างที่มีอายุมากจะมีประสบการณ์ในเส้นทางอาหาร น้ำ และโป่ง ขณะมีการเคลื่อนย้ายโขลงลูกช้างจะถูกขนาบด้วยแม่และแม่รับเสมอ ส่วนตัวผู้จะเดินตามโขลงอยู่ห่างๆ ช้างมักยืนในร่มโบกหูไปมา ยามหลับจะโยกตัวช้าๆ อย่างสม่ำเสมอ บางตัวอาจนอนตะแคงในช่วงเวลาสั้นๆ ช้างจะนอนในเวลากลางคืน ประมาณวันละ 4 ชั่วโมงเท่านั้น

          ช้างสามารถว่ายน้ำได้ ในอัตราเร็วประมาณ 1.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  และสามารถว่ายน้ำโดยที่เท้าไม่สัมผัสพื้นเลยได้ติดต่อกันนานกว่า 6 ชั่วโมง ช้างมักใช้โคลนหรือฝุ่นพ่นใส่ตัวเอง อาจเพื่อเป็นการป้องกันแมลงกัด โดยเฉพาะในฤดูฝน

          ช้างตัวผู้และตัวเมียที่โตเต็มวัยบางตัวที่มีอายุประมาณ 20-40 ปีจะมีช่วงการตกมัน ซึ่งเป็นช่วงที่ช้างมีร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ ช้างจะมีอาการหงุดหงิด ก้าวร้าว ก่อนเกิดอาการตกมัน ต่อมระหว่างตากับหูจะบวมขึ้นและมีน้ำมันไหลออกมา น้ำมันนี้มีกลิ่นฉุนเหม็นสาบรุนแรง ช้างตัวผู้มักมีการแข็งตัวของอวัยวะเพศ บางครั้งอาจมีน้ำเชื้อไหลออกมาด้วย 1-3 สัปดาห์หลังจากนั้นช้างจึงจะมีการก้าวร้าว เจ้าของช้างหรือควาญช้างมักลดปริมาณอาหารหรืองดอาหารเพื่อให้ช้างลดความอุดมสมบูณ์ของร่างกาย การตกมันมักจะเกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูหนาว แต่ก็อาจเกิดช่วงฤดูร้อนได้ อาการจะคงอยู่ 2-3 สัปดาห์จึงสงบลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น